ขณะที่ลูกยังเล็กสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยคือ อาการเจ็บป่วย เพราะนอกจากลูกน้อยจะโยเย ไม่สบายเนื้อตัวแล้ว ลูกไม่สามารถบอกอาการให้รู้ว่าเจ็บตรงไหน รู้สึกอย่างไร ฉะนั้นวิธีการเดียวที่จะรู้ได้คือ การสังเกตของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
กินได้น้อย
จากที่เคยกินได้เก่ง กินได้ดี เปลี่ยนเป็นกินได้น้อย หรือแทบไม่กินเลย เป็นอาการเริ่มต้นของการป่วยค่ะ พยายามป้อนนมหรือน้ำให้ลูกบ่อย ๆ จะให้จิบจากช้อน หรือดูดจากขวดก็ได้ การให้นมกับน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้ร่างกายของลูกไม่ขาดน้ำ
สังเกตเพิ่มเติม
ควร สังเกตด้วยว่า ภายในปากของลูกมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เช่น มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้มหรือไม่ เพราะการมีแผลในปากก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากกินนมหรืออาหาร และหากไม่มั่นใจกับปัญหาที่เกิด ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหา
ตัวร้อน
อุณหภูมิ ในร่างกายที่เกิน 37 องศาเซลเซียสเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายกำลังเจ็บป่วย ร่างกายเองก็มีภูมิต้านทานโรค ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายที่จำเป็นทุกส่วน และขับถ่ายของเสีย พิษของเชื้อโรคออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อวัยวะทุกส่วนของร่างกายจึงทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เราตัวร้อนนั่นเอง
สังเกตเพิ่มเติม
หากมีไข้สูง (เกิน 38 องศาเซลเซียส) ติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง จะเป็นอันตราย ในเด็กเล็กบางคนอาจมีอาการชัก โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่เคยมีประวัติการชักในช่วงเด็ก ๆ อาจจะเกิดขึ้นกับลูกได้ (แต่ไม่เสมอไป) ดังนั้น เมื่อลูกเริ่มมีไข้ควรลดไข้ด้วยการหมั่นเช็ดตัว และคอยจดบันทึกอุณหภูมิ ถ้าไข้ไม่ลดลง หรือสูงขึ้นควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
มีเสมหะ
เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ จนมีการกระตุ้นให้เยื่อบุทางเดินหายใจสร้างเสมหะขึ้น และจะค่อย ๆ หายไปเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กตัวเล็ก ๆ จนถึงเด็กโต เสมหะไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค เมื่อการติดเชื้อลดลง หากเป็นภายใน 2-3 วัน แล้วอาการค่อย ๆ ดีขึ้น ก็วางใจได้ว่า ลูกเป็นหวัดธรรมดา ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอันตรายร้ายแรง
สังเกตเพิ่มเติม
หากลูกมีเสมหะพร้อมกับอาการร่วมอื่น ๆ อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าป่วย เช่น หายใจเร็ว ชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม เวลาหายใจ ซึมลง ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม ร้องไห้ งอแง ไม่ยอมกินนม อาเจียน คุณแม่สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ลูกเราอาจไม่ได้เป็นไข้หวัดธรรมดา ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
ไอ
อาการไอเป็นกลไกของการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย พบได้ในเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่เริ่มหมดลง ลูกมีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น หากมีอาการไอติดต่อมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจเป็นการไอเรื้อรังได้ เป็นสาเหตุทำให้เราตัวร้อนนั่นเอง
สังเกตเพิ่มเติม
ในช่วงขวบปีแรก เบื้อต้นยังไม่ควรใช้ยาแก้ไอ แต่ควรให้ลูกดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ จะช่วยให้เสมหะไม่เหนียว หากลูกไอแล้วสำรอกเสมหะออกมาก็จะดีขึ้น ที่สำคัญ ควรให้ลูกพักผ่อนเพียงพอ และสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นร่างกายด้วยค่ะ
เสียงหายใจ
การที่ลูกนอนหายใจเสียงดัง สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการพัฒนาของอวัยวะในส่วนทางเดินลมหายใจ เช่น หลอดลม ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เมื่อลูกนอนหงาย หรือในบางรายที่เนื้อเยื่ออ่อนอยู่ด้านหน้าของทางเดินหายใจยังไม่แข็งแรง ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งชื่อว่า "ต่อมอะดีนอยด์" ที่อยู่ในบริเวณนั้นตกลงไปขัดขวางทางเดินลมหายใจ จึงทำให้ลูกหายใจแล้วมีเสียงดัง แต่เมื่อเนื้อเยื่อด้านหน้าหลอดลมแข็งแรงขึ้น ประกอบกับต่อมอะดีนอยด์เองก็เล็กลง เสียงที่ดังก็จะหายไป
สังเกตเพิ่มเติม
ในกรณีที่มีความผิดปกติ เช่น หายใจเสียงดัง มีริมฝีปากเขียวคล้ำ เล็บเขียวคล้ำ แสดงให้เห็นว่าลูกอาจมีปัญหาเรื่องการหายใจไม่สะดวก หรืออาจมีของติดหรือขวางทางเดินหายใจ ควรตรวจดูคอและจมูก และหากไม่พบสิ่งผิดปกติแต่ยังมีอาการอีก ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ
สิ่งที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาเรื่องสุขภาพของลูกรุนแรง เป็นปัญหาบานปลายได้ก็คือ การเป็นคุณแม่นักสังเกตนั่นเองค่ะ
เรื่อง : แม่น้อยอู๋