Saturday, July 13, 2013

สูตรเพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต ด้วยวิธีสร้าง...กำลังใจ




        หลายๆ ครั้งในชีวิตเราเคยประหลาดใจไหมว่า ทำไมบางคนประสบเคราะห์กรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเป็นโรคร้ายจนหมอบอกว่าไม่มีทางรอด แต่เขาเหล่านั้นกลับสามารถยืนหยัดต่อสู้จนประสบความสำเร็จในชีวิตหรือมี อายุขัยที่ยืนยาวต่อมาได้ หรือทำไมพระมหาชนกจึงมีความเพียรพยายามที่จะว่ายน้ำข้ามมหานทีวันแล้ววัน เล่า แม้จะยังมองไม่เห็นฝั่ง หรือทำไมนักกีฬาพิการจึงสามารถเอาชนะความไม่สมประกอบของตนจนคว้าเหรียญทองมาได้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเรามีความมานะบากบั่น และมีความตั้งมั่นที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ ถ้าจะบอกว่าสิ่งนั้น คือ "กำลังใจ" ของแต่ละคน เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงหรือไม่ทันคิด

          "กำลังใจ" แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ถึงพลังอันสำคัญนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนในหนังสือชื่อ "กำลังใจ" ว่าการที่คนเราจะเผชิญชีวิตหรือฟันฝ่าอนาคตให้ลุล่วงไปด้วยดีได้นั้น เราจะต้องมีกำลังถึง 3 ประการด้วยกัน คือ กำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจ

         
กำลังกาย หมายถึง ความเป็นผู้มีอนามัยดี ร่างกายแข็งแรงซึ่งเป็นความสำคัญเบื้องต้น 

         
กำลังความคิด หมายถึง วิชาความรู้ และมันสมองที่ดี 

         
ส่วนกำลังใจ หมายถึง สมรรถภาพ(ความสามารถ) ของดวงจิต ที่เป็นเครื่องส่งเสริมและควบคุมให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปโดยเรียบร้อย เหมาะสม

          กำลังกายเป็นเรื่องของร่างกาย กำลังความคิดเป็นเรื่องของมันสมอง และกำลังใจเป็นเรื่องของดวงจิตโดยตรง กำลังทั้งสามนี้มีความสำคัญเท่าๆ กัน ผู้ใดก็ตามมีพร้อมทั้งสามกำลัง นาวาชีวิตของผู้นั้นย่อมแล่นไปได้ดีและบรรลุถึงที่หมายได้ไม่ยาก แต่หากจะขาดหรือบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วท่านว่า ขออย่าให้เป็นเรื่องขาดกำลังใจ เพราะถ้าขาดกำลังใจแล้วจะเอากำลังกายหรือกำลังความคิดมาทดแทนกำลังใจไม่ได้ เลย

          ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งทำการค้าล้มเหลว มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมียตีจาก ชายคนนี้หากขาดกำลังใจเขาก็จะรู้สึกท้อแท้ แม้จะยังมีกำลังกายดี มีกำลังความคิดที่จะใช้ความรู้ความสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกครั้ง แต่เขาก็จะไม่ทำและปล่อยชีวิตให้จมปลักกับความทุกข์และความโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามหากชายคนนี้เกิดเป็นโรคร้ายซ้ำแต่เขายังไม่หมดกำลังใจ เขาก็ยังสามารถใช้สมอง สติปัญญา และพลังที่เหลืออยู่ ฮึดสู้กับโรคร้ายและโชคร้ายอย่างไม่ย่อท้อ ที่สุดเขาก็จะสามารถเอาชนะชะตากรรมได้

 
          หรือถ้าหากเขาขาดกำลังความคิด คือไม่มีความรู้ในธุรกิจจนต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ถ้าเขายังมีกำลังใจอยู่ เขาก็จะมีใจไปขวนขวายหาความรู้เพิ่ม และมุ่งมั่นจนชนะอุปสรรคทั้งหลายได้อีกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือ เรื่องของความรัก เราจะเห็นได้ว่าชายหนุ่มหรือหญิงสาวหากอกหัก มักจะการขาดกำลังใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ แม้จะมีความรู้ หน้าตาดี ร่างกายแข็งแรง แต่หลายคนกลับคิดไม่ตก หันไปทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายในที่สุด ในทางตรงกันข้ามผู้ที่สมหวังในรักก็จะมีแรงใจที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นปึกแผ่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า "กำลังใจ" เป็นพลังที่สำคัญยิ่ง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตของเราให้ไปสู่ความสำเร็จได้นานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การทำงาน หรือความรัก ดังที่กล่าวมาแล้ว

          โดยทั่วไปกำลังใจของคนเรานั้นจะมี 2 แบบ คือ 

         
 1. กำลังใจแบบที่เกิดขึ้นเอง มักเกิดในสภาพจิตที่รุนแรง หรือเกิดจากความสะเทือนใจอย่างหนัก และมักให้โทษมากกว่าคุณ เนื่องจากเป็นกำลังใจที่เกิดจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกธร ความกลัว ความตกใจ ความเกลียด และความหึงหวง เป็นต้น กำลังใจที่ว่านี้ท่านว่าเป็นกำลังใจที่โลดโผน เกิดขึ้นชั่วแล่นแล้วก็ดับหายไป เช่น ภริยาบางคนกลัวสามีมาก แต่เมื่อถูกทำร้ายมากๆ เข้าก็อาจโกรธจนลืมตัว และเกิดกำลังฮึดสู้จนแทงสามีตายได้ หรือในเวลาไฟไหม้ ความตกใจก็สามารถทำให้บางคนยกของหนักได้ทั้งๆ ที่ยามปกติทำไม่ได้ เป็นต้น กำลังเหล่านี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของกำลังใจที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น ซึ่งมักอยู่ไม่นานและไม่ค่อยให้คุณ 

         
 2. กำลังใจแบบที่เราก่อให้เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้น จะเป็นกำลังใจที่ให้คุณและมีความยั่งยืนกว่า เพราะเกิดจากดวงจิตที่ตั้งมั่นจะมีชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ปล่อยไปตามยถากรรม อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากในชีวิต และยังช่วยเพิ่มพูนกำลังกายและกำลังความคิดได้อีกด้วย

          ตามธรรมดาการที่จะรู้ว่าใครมี "กำลังใจ" หรือไม่ ย่อมต้องมีเหตุแสดงให้เห็น เช่น เมื่อเกิดปัญหาชีวิต เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ คนที่มีกำลังใจจะไม่กลัวและพร้อมจะต่อสู้เพื่อให้อุปสรรคเหล่านี้หมดไป หรือสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ย่อท้อ ผิดกับคนที่ขาดกำลังใจมักจะมีอาการตรงข้าม อันเนื่องมาจากเกิดความกลัว ความขลาดที่จะเผชิญปัญหา จึงเกิดวิตกจริต รู้สึกหดหู่ซึมเศร้าอยู่เป็นนิตย์ มองเห็นแต่ปัญหา หาทางออกไม่เจอ อย่างไรก็ดีกำลังใจเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นได้ และทำได้หลายประการดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้ยกตัวอย่างบางวิธีมาเสนอดังต่อไปนี้  


         
ขจัดความกลัว โดยทั่วไปคนจะกลัว 4 เรื่อง คือ กลัวผี กลัวคน กลัวภัยเฉพาะหน้า และกลัวเหตุร้ายจะมาถึง คนที่มีความกลัวอยู่ในนิสัยหรือที่เรียกว่า "คนขลาด" นั้น ยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต แม้จะมีความพร้อมในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้นเราอาจจัดความกลัวได้ 2 วิธีคือ วิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าสิ่งที่ขจัดความกลัวได้ผลที่สุดคือ การแผ่เมตตาจิต ปลูกฝังไมตรีให้เป็นธรรมะประจำใจ เพราะทันที่ที่เรามีเมตตาจิตเราจะไม่กลัวสิ่งใดมาทำอันตราย เพราะเราจะคิดดีต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จึงเสมือนมีเครื่องคุ้มกันภัยและคุ้มกันใจให้หายกลัว

          ส่วนอีกวิธี คือ วิธีแบบจิตวิทยา เป็นการสอนวิธีขจัดความกลัวโดยให้เชื่อในความเป็นจริง คือ ให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เช่น เรากลัวบางคนเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แต่หากศึกษาให้รู้ประวัติ รู้นิสัยใจคอของเขา ก็จะหายกลัว เป็นต้น ความกลัวเป็นศัตรูร้ายแรงของกำลังใจ การฝึกขจัดความกลัวจะเป็นหนึ่งในวิธีสร้างกำลังใจโดยตรง ยิ่งเรากลัวน้อยลงเท่าไร เราก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้นเท่านั้น 

         
ขจัดความหวาดวิตก ซึ่งเป็นภัยร้ายที่ทำลายทั้งสุขภาพและความคิด ดังนั้นเราจะต้องแก้โดยหัดมองโลกในแง่ดี คิดในทางบวก คิดว่าต้อง "ทำได้" อยู่เสมอ เพราะหากเรามัวแต่กลัวปัญหาอุปสรรค และคิดว่าทำไม่ได้ ก็จะเกิดปริวิตกและทอนกำลังใจตนเอง อีกทั้งจะต้องหาอะไรทำอยู่เสมอ อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้ว่าง ความวิตกก็จะหมดไปเพราะมัวแต่ทำงานไม่มีเวลาไปคิดฟุ้งซ่าน ไร้สาระ 

         
การเป็นตัวของตัวเอง คือ มีความคิดอ่านเป็นของตนในทางที่มีเหตุมีผล มีความถูกต้องเหมาะสม หรือพูดง่ายๆ ว่ามีหลักการของตนเอง ไม่ยอมให้ใครชักจูงให้ผันผวนไปจากแนวคิดของตน คนเหล่านี้คือผู้ที่มีกำลังใจแท้ คือ มีกำลังใจที่จะต่อสู้ และกำลังใจที่จะหักห้ามตนเองไม่ให้ทำผิดจากหลักการที่ตั้งไว้  

         
การสร้างนิสัยสดชื่น ความสดชื่น เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ และพร้อมเติบโตก้าวหน้าต่อไป ทำให้ผู้อยู่ใกล้มีความสุขสดชื่นไปด้วย แม้ว่าในความเป็นจริงเราอาจจะมีทุกข์ แต่หากเราเอาแต่โศกเศร้าทุกข์ร้อน นอกจากจะทำให้เรารู้สึกอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้คนก็จะพากันหนีห่าง ดังนั้นเราจึงควรสร้างนิสัยสดชื่นไว้อยู่เสมอ ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้สดชื่นแจ่มใส เช่น ปลูกไม้ดอกในบ้าน หัดมองโลกในแง่ดี/ขบขัน ประกอบคุณงามความดี เช่น ทำบุญ จะทำให้รู้สึกอิ่มเอิบสดชื่นเช่นกัน 

          นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มพูนกำลังใจให้มากขึ้นด้วยการนำข้อคิด คำคม คำสอนที่เป็นคติจากหนังสือ คำพูด หรือการดำรงชีวิตที่ดีของผู้อื่นมาเป็นแบบอย่างได้ เช่นคำคมที่ว่า อัจฉริยะมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเกิดจากหยาดเหงื่อและความเพียรพยายาม /อย่าทำความชั่วเพราะคิดว่าผิดนิดเดียว และอย่าละเว้นทำดีเพราะคิดว่าได้กุศลน้อยนิด เป็นต้น

          การสร้างกำลังใจด้วยวิธีการ ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว แม้จะต้องฝืนใจทำบ้างในเบื้องต้น แต่เชื่อว่าถ้าเราฝึกบ่อยๆ ให้เกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนเข้มแข็งและมี "กำลังใจ" อันเป็นพลังผลักดันให้ชีวิตประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านต่อไป

แหล่งที่มา  คัดข้อความส่วนใหญ่มาจากกระปุกดอทคอม, อสมท

No comments:

Post a Comment